การวางแผนป้องกันความเสี่ยง

การวางแผนป้องกันความเสี่ยง

 


การวางแผนป้องกันความเสี่ยง


“สร้างความแน่นอน บนความไม่แน่นอน”  เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้ เพราะความไม่แน่นอนมักเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การหา “ตัวช่วย” หรือการผลักภาระความเสี่ยงไปให้บริษัทประกัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงในชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ควรพิจารณา การทำประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย แม้จะไม่สามารถขจัดความไม่แน่นอนให้หมดไปจากชีวิตเราได้ แต่ก็สร้างความมั่นใจได้ว่า เราจะยังมีตัวช่วยบรรเทาความสูญเสียทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง

 

ความเสี่ยง 4 อย่าง ที่เราควรจะคำนึงถึงในเบื้องต้นเพื่อวางแผนการประกันภัย คือ 


1. ความเสี่ยงด้านสุขภาพ (Health Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการมีสุขภาพไม่ดี ซึ่งมีผลทำให้บุคคลอาจต้องสูญเสียรายได้หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ

2.ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (Dying too soon) ซึ่งจะทำให้คนในครอบครัวที่ต้องพึ่งพาเรา หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะได้รับผลกระทบทางการเงินเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากบุคคลอาจเสียชีวิตโดยที่ไม่ได้คาดเดาเอาไว้ล่วงหน้า หรือเสียชีวิตก่อนวัยชรา ความเสี่ยงในกรณีนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงได้หากบุคคลที่เสียชีวิตนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว หรือเป็นบุคคลที่มีภาระหนี้สินทางการเงิน หากบุคคลนั้นเสียชีวิตจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินแก่บุคคลในครอบครัว

3. ความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน (Property Risk) เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญหายหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่ บุคคลเป็นเจ้าของ เช่น ทรัพย์สินถูกขโมย ถูกทำลาย เกิดอัคคีภัย อุทกภัย ทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เป็นต้น

4. ความเสี่ยงด้านอาชีพ (Employment Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน โดยอาจเกิดจากการถูกเลิกจ้าง มีรายได้จากการทำงานไม่สม่ำเสมอหรือไม่ต่อเนื่อง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า

 


 





 




 


นิยามของประกันภัย ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย


การทำประกันภัย เป็นการเฉลี่ยความเสียหายทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราไปยังบุคคลอื่น ด้วย “เบี้ยประกัน” จำนวนไม่มากนักเราก็จะได้รับความคุ้มครองทางการเงินเมื่อประสบภัย
 
การประกันภัยในประเทศไทย แบ่งตามลักษณะการประกอบธุรกิจเป็น 2 ประเภท คือ 

1.  การประกันชีวิต (Life insurance) คือ การประกันภัยที่อาศัยชีวิตร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของผู้ทำประกันเป็นเหตุให้เกิดการชดใช้เงินตามสัญญา

2.การประกันวินาศภัย (Non-life insurance) คือ การประกันภัยที่ใช้ทรัพย์สิน วัตถุ หรือความรับผิดชอบเป็นเหตุให้เกิดการชดใช้เงินตามสัญญา เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการโจรกรรม ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ เป็นต้น

ในการทำประกันไม่ว่าจะทำรูปแบบใดก็ตาม ผู้ทำประกันภัยอย่างเราๆ นอกจากจะมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายตามกรมธรรม์แล้ว เรายังมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยที่ต้องปฎิบัติตามด้วย เช่น การชำระเบี้ยตามกำหนด การเปิดเผยข้อเท็จจริง การไม่ก่อให้เกิดภัยขึ้นเอง การดูแลรักษาวัตถุเอาประกัน การแจ้งประกันผู้รับประกันเมื่อเกิดภัย 


 

Shared :