ธนาคารการเงินเเห่งประเทศไทยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ธนาคารการเงินเเห่งประเทศไทยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

March 28 ,2022

ธนาคารการเงินเเห่งประเทศไทยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 
 
ที่ผ่านมาแม้อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนของไทยจะค่อนข้างทรงตัว แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 77.8 ต่อ GDP หรือร้อยละ 114.6 ต่อรายได้ประชาชาติ (ณ ไตรมาส 3 ปี 2561) โดยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และอาจจะยิ่งกังวลใจเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อสรุปจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และเป็นหนี้มากขึ้น” กล่าวคือ

 







 
(1) คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและ/หรือหนี้บัตรเครดิต ขณะที่หนึ่งในห้าของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและอยู่ในช่วงสร้างรากฐานครอบครัว
 
(2) คนไทยเป็นหนี้นาน โดยปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นสำหรับคนในช่วงอายุประมาณปลาย 20 เข้า 30 ปี และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงในชีวิต
 
(3) คนไทยมีหนี้มูลค่ามากขึ้น โดยค่ากลางหรือ median ของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 70,000 บาท ณ สิ้นปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ณ สิ้นปี 2559
         
นอกจากนี้ ความเปราะบางของภาคครัวเรือนยังสะท้อนจากสัดส่วนของคนที่ติดอยู่ในวงจรหนี้เสียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย โดยกว่าร้อยละ 16 หรือประมาณ 3 ล้านคนมีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการดูแล เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภคนั้นช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เพียงในระยะสั้น ขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อความยั่งยืนในระยะยาว เมื่อระดับหนี้ที่สูงเกินตัวเริ่มฉุดไม่ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระทบต่อกำลังซื้อ และที่สำคัญในระดับปัจเจกบุคคล คนที่มีปัญหาหนี้สินมักจะพะวักพะวน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่ปัญหาผลิตภาพในระดับองค์กรธุรกิจและในระดับประเทศ




ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีมหภาคเพียงอย่างเดียว ทั้งมาตรการลดหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งต้องแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการจับจ่ายใช้สอยและการกู้หนี้ยืมสินของคนไทยควบคู่กัน โดยในช่วงที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ธปท.ได้ดำเนินการใน 3 มิติควบคู่กัน

 
มิติที่หนึ่ง
 
คือ การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น (responsible lending) กล่าวคือ สถาบันการเงินควรประเมินภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เมื่อพิจารณาปล่อยกู้ โดยไม่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือเร่งขยายสินเชื่อในลักษณะที่กระตุ้นให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว ซึ่งจะย้อนกลับมาเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินในที่สุด โดย ธปท. ออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพียงพอ และตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งจะต้องดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป จนเกิดความไม่เป็นธรรมที่ซ้ำเติมประชาชน

นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร สะท้อนจากการหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่น การลดดอกเบี้ยในช่วงปีแรก ๆ หรือการให้เงินทอนแก่ผู้กู้ที่ได้เงินสดมาใช้จ่ายก่อน กระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องที่เกินพอดีในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าราคาบ้านคอนโดมีแต่จะขึ้น โดยราคาบ้านคอนโดที่ปรับขึ้นมากกว่าระดับรายได้ของคนส่วนใหญ่นั้น กระทบต่อประชาชนที่ต้องการมีบ้านจริง ๆ ให้เข้าถึงได้ยากขึ้น หรือซื้อได้ในราคาที่แพงเกินควร สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยช่วงปลายปี 2561 ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2562 ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน


 
มิติที่สอง

คือ เมื่อลูกหนี้ติดอยู่ในวงจรหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ เป็นหนี้เสียแล้วควรจะมีทางออกให้ลูกหนี้ที่สุจริต และตั้งใจที่จะปรับพฤติกรรมของตัวเองสามารถที่จะออกจากวงจรหนี้ได้ ในเรื่องนี้สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงความจำเป็นและร่วมมือกันจัดให้มี “โครงการคลินิกแก้หนี้” (Debt Clinic) ขึ้น เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศที่ช่วยให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายรายให้มีโอกาสปลดหนี้ได้เบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว (one stop service) โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งปกติการเจรจาแก้ปัญหาหนี้ประเภทนี้ปกติจะสำเร็จยาก เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน และลูกหนี้จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายด้วยตนเอง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 โครงการคลินิกแก้หนี้มีโอกาสช่วยลูกหนี้ที่สุจริตและตั้งใจแก้ไขปัญหาให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ 1,087 ราย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่และการออกจากวังวนหนี้

 
สำหรับโครงการในระยะ 2 จะขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ non-bank ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของโครงการให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้กว้างขวางและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เพราะหนี้ส่วนนี้มีสัดส่วนจำนวนลูกหนี้กว่าร้อยละ 70 ของทั้งหมด และจากข้อมูลลูกหนี้ที่ติดต่อกับโครงการที่ผ่านมาพบว่าเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้ non-bank รวมอยู่ด้วยจำนวนสูงพอสมควร อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ ผู้ประกอบการ non-bank จำนวนไม่น้อยเห็นถึงความสำคัญของโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าลูกหนี้ของ non-bank จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562
 




 
 

 
มิติที่สาม

การส่งเสริมความรู้ การวางแผนและวินัยทางการเงินที่ดีแก่ประชาชน (financial literacy) ให้ระมัดระวังการใช้จ่ายไม่ให้จ่ายเงินเกินตัว “ทักษะการบริหารจัดการเงิน” ถือเป็นหนึ่งใน “ทักษะชีวิต” (life skill) ที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ทักษะการบริหารจัดการเงินถือเป็นทักษะที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าทักษะทางเทคโนโลยี ทักษะทางภาษา และทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับช่วงวัย และเท่าทันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
 

 

 

สำหรับการดำเนินการส่วนนี้ ธปท. ได้ขับเคลื่อนงานให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในวงกว้างต่อเนื่องมาหลายปี และในปี 2561 เน้นกลุ่ม Gen Y เพื่อสร้างกลุ่มต้นแบบ ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ และกลุ่มเริ่มต้นวัยทำงาน (first jobber) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสม รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะทางการเงินที่ดีให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง ในการผลักดันงานส่วนนี้ให้เกิดผลได้รับการสนับสนุนจากสมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) มูลนิธิยุวสถิรคุณ และภาคีเครือข่ายอื่นๆ  

Shared :