ประกันผู้บริหาร

ประกันผู้บริหาร

 


ประกันผู้บริหาร

เมื่อพูดถึงประกันผู้บริหาร มักจะมีความสับสนในเรื่องความคุ้มครอง ว่าเรากำลังหมายถึง ประกันสำหรับผู้บริหาร (Key Man Insurance) หรือ ประกันความรับผิดสำหรับผู้บริหาร (Directors and Officers Liability Insurance)

ประกันสำหรับผู้บริหาร (Key Man Insurance) คือ ประกันที่บริษัททำให้กับผู้บริหารเป็นสวัสดิการเพิ่มเติม หรือป้องกันความเสี่ยงให้แก่บริษัท กรณีที่ผู้บริหารซึ่งเป็นบุุคลลสำคัญของบริษัทเกิดเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ทำให้การบริหารงานเกิดสะดุด หยุดชะงัก กว่าที่จะทำการสรรหา บุคลากรมาแทนผู้บริหารท่านเดิมได้ ก็จะต้องใช้เวลา ทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่าย เสียโอกาส ต่างๆ มากมาย หากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นลดลงได้ การทำประกันสำหรับผู้บริหาร (Key Man Insurance) นี้ ก็จะเป็นในทำนองเดียวกันกับการทำประกันชีวิตส่วนบุคคลให้แก่กรรมการ ผู้บริหารของบริษัท

ประกันผู้บริหาร อีกความหมายหนึ่งที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้ คือ ประกันความรับผิดสำหรับผู้บริหาร (Directors and Officers Liability Insurance)




 


การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ของบริษัท

การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ (Directors and Officers Liability Insurance : D&O) เป็นการประกันภัยให้แก่บุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจมีเหตุให้ได้รับความสูญเสียหรือเสียหายทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพ หรือประกอบกิจการของบริษัท D&O ที่เป็นที่รู้จัก คุ้นเคยกัน ก็เช่น ประกันวิชาชีพให้เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลของสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงในการที่จะถูกคนไข้ฟ้องร้องได้ หรือเฉพาะอาชีพที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ ได้แก่ นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี แต่ในปัจจุบันได้มีการขยายความคุ้มครองออกไปยังอาชีพอื่น ๆ ด้วย เช่น คุ้มครองกรรมการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท สำหรับความสูญเสียหรือค่าเสียหายทางการเงิน อันเนื่องมากจาก การละเมิดหรือการกระทำผิดที่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็น ความรับผิดทางอาชีพการบริหารจัดการ D&O นี้ไม่มีแบบและข้อความที่กำหนดเป็นมาตรฐาน เนื่องจากความเสี่ยงในแต่ละธุรกิจ แต่ละกิจการนั้นแตกต่างกัน นอกจากนี้ D&O ยังควรที่จะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และลักษณะความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งการเปิดเสรีในธุรกิจหลายสาขาของประเทศไทย ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติ และที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ตื่นตัวเกี่ยวกับการประกันภัยความรับผิดประเภทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศที่เริ่มต้นในปี 2540 อันเนื่องมาจากการล้มละลายของสถาบันการเงินบางแห่งเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด การประมาทเลินเล่อ หรือการปกปิดข้อความจริง หรือการแสดงข้อความที่ทำให้ผู้ถือหุ้นและบุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ของผู้บริหารของสถาบันการเงินเหล่านั้น จึงได้นำมาซึ่งคำถามว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อมีแนวโน้มว่า ผู้บริหาร (ซึ่งรวมถึงกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ) อาจมีสิทธิ์ถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดหรือการกระทำผิดของตนที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย หรือเสียหายทางการเงินแก่บุคคลอื่น ๆ ความต้องการกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น อย่างเด่นชัดคำแนะนำในการเลือกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กรมธรรม์ D&O นี้เป็นกรมธรรม์ที่บริษัทเป็นผู้ซื้อเพื่อให้ความคุ้มครองแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของบริษัท ไม่ใช่กรมธรรม์ที่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะต้องซื้อเองเป็นการส่วนตัว ในการเลือกสรรหากรมธรรม์ D&O นั้น ก่อนอื่น ท่านจะต้องทราบว่า กรรมการและเจ้าหน้าที่ของบริษัทของท่านนั้นมีความเสี่ยงต่อความรับผิดตามกฎหมายในเรื่องใดบ้าง หรือมีกฎหมายเฉพาะอะไรที่บริษัทของท่านต้องใช้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจเป็นพิเศษ

ในกรณีของบริษัทขนาดใหญ่ ฝ่ายกฎหมายของบริษัทจะช่วยได้มากในจุดนี้ ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีฝ่ายกฎหมาย ก็ควรปรึกษากับบริษัทภายนอกที่ให้บริการด้านกฎหมาย การทราบถึงลักษณะความเสี่ยงภัยของบริษัทจะทำให้การติดต่อสอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวกับการประกันภัย D&O เป็นไปอย่างตรงประเด็นมากขึ้น ขั้นตอนต่อมา จะเป็นการดีกว่า หากท่านทำการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียดของการประกันภัยกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัท เพื่อดูว่าบริษัทประกันภัยใดจะมีความชำนาญในการรับประกันภัยประเภทนี้และให้ข้อเสนอดีกว่ากัน นอกจากนี้ ท่านยังอาจต่อรองในรายละเอียดของเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ได้ให้เป็นแนวทางไว้ข้างต้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว การพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดของการประกันภัยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเลือกซื้อความคุ้มครองทุกประเภท

หลังจากได้รายละเอียดต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการเปรียบเทียบและเลือกบริษัทประกันภัยที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งในการเลือกนั้น ท่านควรพิจารณาถึงขอบเขตความคุ้มครอง ข้อยกเว้น และเงื่อนไขต่าง ๆ เปรียบเทียบกับอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์แต่ละฉบับและจงจำไว้ว่าอัตราเบี้ยประกันภัยที่ต่ำที่สุดไม่ได้หมายความว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการ ตลอดจนชื่อเสียงและความมั่นคงของบริษัทประกันภัยที่ท่านจะทำสัญญาด้วยก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน

Shared :