จดทะเบียนยกเลิกบริษัท และชำระบัญชี

จดทะเบียนยกเลิกบริษัท และชำระบัญชี

การจดทะเบียนยกเลิกบริษัท หรือ การจดทะเบียนยกเลิกกิจการ ทำอย่างไรให้ถูกต้อง?
 
วิธีจดทะเบียนยกเลิกบริษัท หรือกิจการ

หลายคนมองว่าการเปิดกิจการนั้นทำได้ง่ายมาก แต่รู้หรือไม่ว่า การจะปิดหรือยกเลิกกิจการนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานานในการดำเนินการ ในรูปแบบของบริษัทจำกัด เริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทซึ่งเกิดจากผู้ลงทุนร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปโดยแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆละเท่าๆกันและตกลงแบ่งกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการนั้น ผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการของบริษัทซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะเจริญเติบโตได้และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทจึงเป็นองค์กรธุรกิจที่กฎหมายต้องการให้มีชีวิตยาวนานไปได้ แม้ผู้ถือหุ้นจะตาย ล้มละลายหรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ บริษัทก็จะไม่ได้รับความกระทบกระเทือน จนกว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของบริษัทจะประสงค์ให้เลิกบริษัท 


 
การเลิกบริษัทจำกัด

การเลิกของบริษัทจำกัดจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสาเหตุของการเลิกบริษัท ดังต่อไปนี้


1. การเลิกโดยผลของกฎหมาย ได้แก่

1.1. กรณีข้อบังคับของบริษัทได้กำหนดสาเหตุแห่งการเลิกไว้และเมื่อมีเหตุนั้นเกิดขึ้นจึงต้องเลิกบริษัท
1.2. ในการตั้งบริษัทได้กำหนดระยะเวลาในการเปิดและปิดไว้และเมื่อถึงวันที่สิ้นสุดตามที่กำหนดไว้
1.3. ในการตั้งบริษัทเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อบริษัทได้ทำกิจการนั้นเสร็จแล้วจึงต้องเลิกบริษัท
1.4. บริษัทล้มละลาย

2. การเลิกบริษัทจากความประสงค์ของผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท ในกรณีเลิกและชำระบัญชีของบริษัทจำกัด ต้องมีการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัทด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน

3. การเลิกบริษัทโดยคำสั่งศาล ได้แก่

3.1. บริษัททำผิดในการยื่นรายงานการประชุมตั้งบริษัทหรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
3.2. บริษัทไม่เริ่มประกอบการภายใน 1 ปี นับแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือหยุดทำการเป็นเวลาถึง 1 ปี
3.3. การประกอบธุรกิจขาดทุนและไม่มีทางฟื้นคืน
3.4. จำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง 3 คน
3.5. มีเหตุที่ทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ได้  


 

เมื่อไหร่ที่สามารถเลิกกิจการได้?


โดยความประสงค์ของผู้ถือหุ้น กล่าวคือผู้ถือหุ้นได้มีการประชุม 2 ครั้ง เพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัท และลงมติว่า ต้องการยกเลิกบริษัท โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม รวมถึงถ้าหากมีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่ตกลงเรื่องการชำระหนี้ได้ และยินยอมให้เลิกกิจการได้

เลิกโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือหากในข้อบังคับกำหนดเหตุเลิกไว้และเมื่อเกิดเหตุนั้นขึ้นจริง, ตั้งบริษัทโดยกำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ และเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาดังกล่าว, ตั้งบริษัทเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด กระทั่งเมื่อทำกิจการนั้นเสร็จแล้ว, บริษัทล้มละลาย หรือนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน (ถอนทะเบียนร้าง)

เลิกโดยคำสั่งศาล คือทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท, บริษัทไม่เริ่มประกอบการภายใน 1 ปี นับแต่จดทะเบียนบริษัท หรือหยุดทำการถึง 1 ปี, การค้ามีแต่ขาดทุนและไม่มีหวังฟื้นกลับคืน, จำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง 3 คน

เคลียร์งบการเงินและภาษีส่งสรรพากร?


หลังจากจดเลิกกิจการแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องเคลียร์งบการเงิน ยื่นเอกสารและชำระภาษีส่งกรมสรรพากร ซึ่งต้องให้นักบัญชีเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดทำให้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.บริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ จัดทำโดยผู้ทำบัญชี และมีผู้สอบบัญชีอิสระเซ็นรับรอง ซึ่งต้องเป็นคนละคนกับคนทำบัญชี และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ
2.นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการภายใน 150 วัน นับจากวันที่เลิกกิจการ
3.นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ
4.หากมีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยในงบการเงิน ให้นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ
 
 
   

 
 
ก่อนการเลิกกิจการ กิจการควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง?

1.การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ถือหุ้น
ก่อนการดำเนินการเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นต้องปรึกษาหารือกันก่อน เนื่องจากถ้ามีการดำเนินการเลิกบริษัทโดยที่มีผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย อาจเกิดการฟ้องร้องได้ การดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอนเป็นการปิดความเสี่ยงไม่ให้มีการฟ้องร้องกันได้ กฎหมายจึงกำหนดให้มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีมติในการเลิกกิจการ

2.การจัดทำงบการเงินย้อนหลังให้ครบถ้วน
ก่อนการดำเนินการเลิกกิจการ ถ้าบริษัทมีงบการเงินย้อนหลังที่ยังไม่ได้นำส่ง กิจการต้องนำส่งงบการเงินย้อนหลังให้ครบถ้วนเพราะในขั้นตอนการเลิกกิจการ บริษัทต้องจัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการด้วย ซึ่งต้องมีตัวเลขงบการเงินยกมาจากปีก่อนจึงจะสามารถจัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการได้

3.การยื่นแบบนำส่งภาษีต่างๆให้ครบถ้วน
ก่อนการดำเนินการเลิกกิจการ หากบริษัทยังมีภาษีที่ยังยื่นแบบต่อกรมสรรพากรไม่ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น บริษัทควรจัดการเคลียร์รายการทางภาษีดังกล่าวและนำส่งกรมสรรพากรให้ครบถ้วน เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการเลิกกิจการได้และป้องกันไม่ให้กิจการมีปัญหากับกรมสรรพากรในภายหลัง

4.การจัดหานักบัญชีและผู้สอบบัญชีที่มีประสบการณ์มาช่วยในการจัดการเรื่องบัญชีและภาษี
การเลิกบริษัทมีประเด็นทางบัญชีและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากทั้งก่อนการดำเนินการเลิกกิจการที่ต้องเคลียร์ประเด็นทางบัญชีและภาษี และการจัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาเลือกนักบัญชีและผู้สอบบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านบัญชีและภาษี ซึ่งประเด็นทางทางบัญชีและภาษีที่พบบ่อยหากไม่มีการวางแผนในการเลิกกิจการที่ดีพอได้แก่
        
      - มีรายการลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการค้างในงบการเงิน
      - มีรายการสินค้าคงเหลือค้างในงบการเงินเป็นมูลค่าสูง
      - มีขาดทุนสะสมเกินทุน
      - มีรายการที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ค้างอยู่ในงบการเงิน

5.การพิจารณาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการเลิกบริษัทในการเลิกบริษัท
หน่วยงานภาครัฐต้องเกี่ยวข้องโดยตรงคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้กิจการควรพิจารณาว่ามีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องอีกเพื่อจะได้ดำเนินการติดต่อให้ครบถ้วน โดยถ้ากิจการเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการต้องดำเนินการจดทะเบียนเลิกกับกรมสรรพากรด้วยเพื่อให้ได้หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร นอกจากนี้ถ้ากิจการมีการขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคม กิจการก็ต้องดำเนินการแจ้งเลิกกับสำนักงานประกันสังคมด้วย

ขั้นตอนการเลิกบริษัท

เมื่อกิจการตกลงที่จะปิดกิจการ กิจการควรดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนการเลิกบริษัทตามกฎหมาย
โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ 4 ขั้นตอนคือ





 

 
1. การจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัด

เมื่อบริษัทจำกัดที่เป็นนิติบุคคลเลิกกันบริษัทจะยังคงตั้งอยู่เพื่อชำระบัญชี ในการเลิกบริษัทนอกจากกรณีล้มละลายต้องมีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี กรรมการทุกคนของบริษัทถือเป็นผู้ชำระบัญชีหากข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในการจดทะเบียนเลิกบริษัทมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

1.1. จัดทำหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษในการเลิกบริษัท
การปิดบริษัท โดยหนังสือนัดประชุมจะต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 คราวและมีการส่งไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบให้แก่ตัวผู้ถือหุ้น ในการออกหนังสือนัดประชุมดังกล่าวตัองจัดทำก่อนการประชุมวิสามัญไม่น้อยกว่า 14 วันหรือตามที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัท 
1.2. การจัดประชุมผู้ถือหุ้น ในการลงมติผู้ถือหุ้นต้องมีมติพิเศษให้ยกเลิกบริษัทด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
1.3. จัดทำประกาศลงหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้งรวมทั้งการจัดทำหนังสือบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ของบริษัทภายใน 14 วัน นับจากวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเลิกบริษัท
1.4. ผู้ประกอบการดำเนินการยื่นจดทะเบียนเลิกบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วันนับจากวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเลิกบริษัท โดยการยื่นเอกสารด้วยมือหรือการยื่นออนไลน์ทางระบบDBD-e-Registration 

2. การจัดทำงบการเงินและยื่นแบบภาษีต่างๆให้ครบถ้วน

เมื่อบริษัทดำเนินการจดทะเบียนเลิกเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการต้องจัดทำงบการเงินและยื่นแบบภาษีต่างๆให้ครบถ้วน กิจการต้องจัดหาผู้ทำบัญชีมาช่วยในการจัดการดังกล่าวและต้องมีผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงินด้วย โดยมีรายละเอียดการดำเนินการดังต่อไปนี้

2.1. จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการโดยผู้ทำบัญชีของบริษัท และมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นว่างบการเงินถูกต้อง
2.2. นำส่งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) พร้อมงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการภายใน 150 วันนับจากวันที่เลิกกิจการ
2.3. นำส่งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการให้ครบถ้วน ได้แก่ค่าบริการจัดทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
2.4. สำหรับกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทต้องนำส่งแบบภ.พ.30ต่อกรมสรรพากรไปจนกว่าจะได้รับ”หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร”จากกรมสรรพากร
2.5. สำหรับกิจการที่ต้องนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะเช่นมีรายการดอกเบี้ยรับหรือดอกเบี้ยค้างรับในงบการเงิน ให้ดำเนินการยื่นแบบภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ
   

    


 

3. การแจ้งเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากร กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในกรณีกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเลิกกิจการ ผู้ประกอบการต้องไปดำเนินการเลิกการจด  ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากรพื้นที่ในเขตที่บริษัทตั้งอยู่ โดยผู้ประกอบการต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันที่เลิกประกอบกิจการ โดยในทางปฏิบัติสรรพากรในแต่ละพื้นที่จะขอเอกสารหลักฐานแตกต่างกัน แนะนำว่าผู้ประกอบการควรโทรไปสอบถามเอกสารหลักฐานที่ใช้กับสรรพากรพื้นที่ในเขตของตนก่อน อย่างไรก็ตามเอกสารที่ใช้โดยทั่วไปมีดังนี้

3.1. แบบ ภพ.09 จำนวน 4 ฉบับ
3.2. หนังสือรับรองบริษัท (เลิกกิจการ)
3.3. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีทุกคน
3.4. ภพ.01, ภพ.01.1, ภพ.09 และ ภพ.20 ตัวจริง ถ้าหายจะต้องใช้ใบแจ้งความหายแทน และ ในใบแจ้งความต้องระบุชื่อบริษัทด้วย
3.5. หนังสือชี้แจงเหตุผลในการเลิกกิจการ
3.6. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
3.7. บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
3.8. ภงด.50 ณ วันเลิกกิจการ
3.9. งบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ
3.10. แผนที่แสดงที่ตั้งสานักงานของบริษัท
3.11. ภพ.30 และใบเสร็จย้อนหลัง
3.12. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ชำระบัญชีทุกคน
3.13. ภงด.50 ภงด.51 และ งบการเงินย้อนหลัง
 
4. การชำระบัญชีและการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทจำกัด

หลังจากกิจการส่งงบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้ว มีขั้นตอนการชำระบัญชีดังต่อไปนี้

4.1. ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อยืนยันตัวผู้ชำระบัญชีหรือแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่และอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิก
4.2. ผู้ชำระบัญชีเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้น การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ที่ค้างชำระ ชำระหนี้สิน ใช้คืนเงินทดรองและค่าใช้จ่ายที่กรรมการบริษัทได้สำรองจ่ายไปในการดำเนินการของบริษัทและจ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีของบริษัท ถ้ามีเงินเหลือให้คืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้นหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
4.3. ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
4.4. ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
4.5. ผู้ชำระบัญชีจัดทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ประชุมอนุมัติการชำระบัญชีกรณีที่บริษัทไม่สามารถชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันเลิกกิจการ ให้ผู้ชำระบัญชียื่น รายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3) ทุก 3 เดือน ถ้าชำระบัญชียังไม่แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่ในเวลาสิ้นปีทุกปีนับแต่วันเริ่มทำการชำระบัญชี (วันเลิก) ต้องทำรายงานยื่นต่อที่ประชุมว่าได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้างและแจ้งความคืบหน้าของการชำระบัญชีอย่างละเอียดสำหรับเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีมีดังนี้

                (ก) แบบคำขอจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช.1) 
                (ข) รายการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี (แบบ ลช.5) 
                (ค) รายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3)
                (ง) งบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท (หรือ งบการเงิน ณ วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิกบริษัทก็ได้) 
                (จ) รายละเอียดสมุดบัญชีและสรรพเอกสารทั้งหลาย (แบบ ลช.6) 
                (ฉ) แบบรับรองการตรวจสอบบัญชีของกรมสรรพากร 
                (ช) สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีที่ลงชื่อในคำขอจดทะเบียน 
                (ฌ) สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี) 
                (ญ) หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย)  


อยากเลิกกิจการ …สำนักงานบัญชีช่วยทำอะไรบ้าง

เมื่อทราบแล้วว่าขั้นตอนการเลิกกิจการต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งมีความซับซ้อนอยู่หลายขั้นตอนพอสมควร ดังนั้น หากกิจการเลือกจ้างสำนักงานบัญชีจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะสำนักงานบัญชีมีหน้าที่จัดทำ ประสานงาน ดำเนินพิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกกิจการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ 1) จดทะเบียนเลิกบริษัท 2) จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิก และส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง และ 3) จดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี

กรมสรรพากร ได้แก่ 1) แจ้งปิดบริษัทภายใน 15 วัน 2) ยื่น ภ.ง.ด.50 ของงบที่เลิกบริษัท และ 3) คืนใบ ภ.พ.20 ตัวจริง
 
สำนักงานประกันสังคม ได้แก่ แจ้งเลิกกิจการ
ในส่วนของการจัดทำงบการเงินและภาษี ก่อนเลิกกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องเคลียร์งบการเงินและภาษีให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องจ้างสำนักงานบัญชี เพื่อความปลอดภัยในการวิเคราะห์การเลิกจ้าง เพราะถ้าหากวิเคราะห์มาไม่ดีไม่รัดกุม มีโอกาสที่จะถูกเรียกเก็บภาษีค่อนข้างมาก หากขาดการวางแผนที่ดี (ข้อมูลจาก https://tanateauditor.com/issues/) เช่น

      – มีเงินกู้ยืมกรรมการในงบการเงิน
      – มีสินค้าคงเหลือค้างมาในงบการเงินเป็นจำนวนมาก
      – มีบัญชีประเภทที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ค้างมาในงบการเงิน
      – มีดอกเบี้ยค้างรับในงบการเงิน
      – มีกำไรสะสมสูงในงบการเงิน

ทางสำนักงานบัญชีจะช่วยวิเคราะห์และพิจารณาว่ากิจการควรจะดำเนินเรื่องอะไรก่อน เพื่อให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุดและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อตัดปัญหาเรื่องภาษีย้อนหลัง

Shared :